วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ว่าด้วยเรื่องราวในวงการแบงค์ยุค 4.0






ช่วงนี้เห็นมาตรการของแบงค์ชาติยุค 4.0 ที่เดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัวแล้วนั้น ลึกๆแล้วแอบเป็นห่วงน้องๆพนักงานแบงค์โดยเฉพาะกับพนักงานปฏิบัติการสายรีเทล ที่หลายๆแบงค์ต่างเริ่มนโยบายลดสาขา เพราะคนรุ่นใหม่หันไปใช้ e-banking หรือ mobile-banking กันเพิ่มมากขึ้นตามไลฟสไตล์ของยุคดิจิตอลสมัยนี้ ที่เบื่อรถติด เบื่อต้องเจอพนักงาน(จำใจ)ยัดเยียดขายแพคเกจประกันตามที่ได้รับมอบเป้าหมายมาให้ขายตามนโยบายของแบงค์ในยุคนี้ที่ต้องดิ้นรนหารายได้กันในทุกช่องทาง

แต่ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะหันไปใช้บริการธุรกรรมทางธนาคารผ่านอินเตอร์เนตกันเยอะขึ้นเพียงใดแต่จากข่าวใหญ่ที่กระทบต่อวงการธนาคารในบ้านเราสองเรื่องใหญ่ๆ ที่ผ่านมา นั่นคือกรณีมีคนร้ายปลอมแปลงบัตรประชาชนไปเปิดซิมใหม่ แล้วโทรไปรีเซตพาสเวิร์ดกับธนาคาร จนสามารถถอนเงินไปได้เกือบล้าน หลังจากที่จับตัวขบวนการนี้กันได้แล้ว ทำให้รู้ว่าจุดเริ่มต้นมีที่มาจากรูปแบบในการโกงเงินจากการซื้อขายไอเทมในเกมส์ออนไลน์ จนคิดการใหญ่จนเป็นที่มาของคดีดังไปทั่วประเทศ

ส่วนอีกคดีคือการที่ ATM โดยติดตั้ง Malware ในรูปแบบใหม่ล่าสุด ที่พอติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว เครื่อง ATM ก็กลายเป็นเครื่องปั๊มเงินอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า ATM Jackpotting Malware ราวกับในหนังฮอลลีวูดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการโกงการปล้นเงินโดยใช้เทคโนโลยีไฮเทคกันที่ดูกันจนคุ้นชิน แต่ไม่คิดว่าจะได้เห็นจริงๆในบ้านเรา จนกลายเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางถึงความปลอดภัยในวงการธนาคารของบ้านเรา ว่ามีความมาตรการความปลอดภัยในยุคดิจิตอลกันนี้มากน้อยเพียงไร

ทำให้ท่ามกลางกระแสอันร้อนแรงของรูปแบบธุรกรรมการเงินแสนไฮเทคนี้ ไม่ว่าจะ e-wallet ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นกระเป๋าตังค์ไว้จ่ายค่าบริการที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป เช่นบัตรรถไฟฟ้า หรือจะเป็น Any ID ที่ชื่อไม่สื่อ จนต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Prompt Pay เพื่อให้เข้าใจกันอย่างง่ายดายมากขึ้น แต่กระนั้น คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงตั้งข้อสงสัยกับความปลอดภัยในการธุรกรรมผ่านอินเตอร์เนต ว่าจะมีความปลอดภัยแค่ไหน เพราะยิ่งระบบเก่งกาจเพียงใด คนโกงก็ยิ่งเก่งฉกาจมากขึ้นอีกหลายเท่า

แต่อย่างน้อยคดีเหล่านี้ก็เป็นบทเรียนให้เราได้ตระหนักว่า ไม่ควรเก็บเงินไว้ในบัญชีเดียว ควรที่ จะแยกเงินเก็บไว้หลายแห่ง ซึ่งหากจำเป็นต้องใช้ e-banking เพื่อทำธุรกิจ ควรจำกัดเงินในบัญชีให้เพียงพอต่อการทำธุรกรรมเท่านั้น ส่วนเงินเก็บสะสมควรแยกเก็บไว้ในบัญชีอื่น ที่ไม่ควรผูกกับ e-banking และยิ่งในยุคที่ดอกเบี้ยต่ำติดดินขนาดนี้ ควรอย่างยิ่งที่จะเก็บเงินไว้ในกองทุนการเงิน กองทุนตราสารหนี้ กองทุนตราสารหุ้น หรือสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่า รวมถึงเป็นการยากต่อการถอนเงินออกจากบัญชีอีกด้วย เพราะต้องทำธุรกรรมกับกองทุนเพื่อขายเสียก่อน จึงจะได้เงินออกมาใช้

แต่แม้ว่าผู้เขียนเองจะเป็นคนวงในของวงการแบงค์ และมีความสนใจเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่เสมอ แต่ยอมรับว่ายังเป็นคน old-fasioned ที่ยังนิยมเดินเข้าธนาคารสาขา ทำธุรกรรมโดยใช้สมุดบัญชี แถมยังได้ชิทแชทกับน้องๆพนักงานแบงค์ ยอมฟังน้องๆนำเสนอแพคเกจขายประกันบ้าง เพราะเข้าใจดีว่า น้องๆโดนกดดันและมียอดกันอยู่ ยังไงก็ยังให้ความอุ่นใจและได้ทำความสนิทสนมกับน้องพนักงาน ไปด้วย แถมสิ้นปีได้มีปฏิฑินปีใหม่เป็นของกำนัลเล็กๆน้อยๆให้ได้ชื่นใจ ซึ่งถือเป็นของหายากไปแล้ว :)