วันก่อนมีโอกาสรับเขียนบทความเกี่ยวกับการกู้เงิน แบบไม่มีหลักประกัน ซึ่งน่าจะมีประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ได้ทำงานประจำ หรือที่เรียกว่า ฟรีแลนซ์ เลยอยากนำมาแบ่งกันให้ทราบค่ะ
สำหรับชาวฟรีแลนซ์ที่กำลัง มองหาแหล่งเงินกู้เพื่อมาเสริมสภาพคล่อง หรือเพื่อนำไปประกอบอาชีพ หรือประกอบธุรกิจนั้น เนื่องด้วยชาวฟรีแลนซ์ไม่ได้มีรายได้ประจำเหมือนพนักงานประจำ ไม่มีเงินเดือนที่จะเข้ามาในแต่ละเดือน ทำให้ทางธนาคารส่วนใหญ่จะคิดว่า เป็นความเสี่ยงทางความสามารถในการชำระหนี้ ว่ารายได้ของท่านนั้นจะสามารถมาชำระหนี้ในแต่ละเดือนหลังจากกู้ไปแล้วไหว หรือไม่ ซึ่งนั่นจึงทำให้เป็นข้อจำกัดในการกู้เงินของชาวฟรีแลนซ์อยู่พอสมควร รวมไปถึงส่วนใหญ่จะไม่มีหลักประกันในการกู้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือหลักทรัพย์ต่างๆ ทำให้ต้องเสาะหาตัวช่วยที่จะเป็นทางเลือกในการกู้เงินแบบไม่ต้องใช้หลัก ประกันในการขอกู้ เช่นสินเชื่อส่วนบุคคล เรามาดูกันว่าประเภทของสินเชื่อส่วนบุคคลที่ชาวฟรีแลนซ์สามารถกู้ได้มีอะไร กันบ้าง
สินเชื่อส่วนบุคคลกับธนาคารพาณิชย์
หรืออาจเรียกว่าสินเชื่อเงินสด หรือสินเชื่ออเนกประสงค์ของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ซึ่งสินเชื่อประเภทนี้จะค่อนข้างใช้ระยะเวลาในการพิจารณาไม่นาน เนื่องจากไม่มีเงื่อนไขหลักประกันในการขอกู้ และวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่จะกู้เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ ประกอบธุรกิจ เสริมสภาพคล่อง แหล่งเงินทุน หรือแม้แต่นำไปใช้เพื่ออุปโภคและบริโภคส่วนบุคคล โดยหลักเกณฑ์ทั่วไปจะให้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ โดยอาจพิจารณาจากรายได้ที่แสดงการเดินบัญชีตัวเลขเข้าออกในแต่ละเดือน มาเป็นหลักฐานทางการเงินอย่างหนึ่ง ดังนั้นหากว่าใครที่คิดว่าอยากจะทำวงเงินกู้กับทางธนาคารไหน ควรเปิดบัญชีและทำธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารนั้น เพื่อจะได้มีหลักฐานทางการเงินแสดงยอดเงินเข้าออกระหว่างเดือน เป็นหลักฐานที่ชัดเจนและทำให้ธนาคารพิจารณาอนุมัติได้ง่ายขึ้นกว่าไม่มีหลัก ฐานทางการเงินใดๆไปแสดงเลย หรือหากเป็นเจ้าของธุรกิจ อาจมีเงื่อนไขเพิ่มเติมระบุว่า ต้องดำเนินธุรกิจปัจจุบันเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 - 3 ปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทนี้ต้องทำใจว่าอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูงกว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปกติ ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 20 - 28 %
โครงการสินเชื่อพิเศษกับธนาคารของรัฐ
เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพราะว่าธนาคารเหล่านี้มักจะออกรูปแบบโครงการเพื่อเป็นการสอดรับกับนโยบาย ต่างๆ ของรัฐบาลที่ต้องการออกกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในช่วงนั้นๆ ซึ่งโดยมากโครงการเหล่านี้มักจะจำกัดสิทธิให้เฉพาะกับข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่ในบางกรณีก็มีโครงการพิเศษสำหรับประชาชนโดยทั่วไปด้วย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยของโครงการสินเชื่อพิเศษเหล่านี้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำกว่า อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อทั่วไป ดังนั้นผู้ที่กำลังคิดจะกู้เงิน อาจต้องติดตามข่าวสารจากธนาคารเหล่านี้เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนตัดสินใจ เลือกกู้เงินกับสถาบันการเงินใด
นาโนไฟแนนซ์
คำนี้อาจยังใหม่ และไม่คุ้นหูสำหรับคนส่วนใหญ่นัก เพราะเพิ่งมีเมื่อไม่นานนี้เอง เป็นมาตรการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนที่เป็นพ่อค้าแม่ขายโดยเฉพาะ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในกฎหมายได้สะดวกและง่ายดายขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาก่อหนี้นอกระบบ ที่เข้าใจกันดีว่าเวลาทวงหนี้นั้นมหาโหดกันเช่นไร โดยการกู้ประเภทนี้ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่มีแหล่งรายได้ชัดเจน รวมถึงใครที่ติดเครดิตบูโรก็สามารถกู้กับธุรกิจประเภทนี้ได้ โดยกำหนดวงเงินกู้ไว้ไม่เกิน 1 แสนบาทในแต่ละราย แต่บริษัทที่ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ได้นั้นต้องได้รับการอนุมัติจากธนาคาร แห่งประเทศไทยก่อนทำธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 5 ราย สำหรับเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้นใกล้เคียงกับประเภทที่ 1 โดยอาจจะสูงกว่าเล็กน้อยแล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละธุรกิจนั้นๆ
แต่ ทั้งนี้ขอให้แน่ใจว่าท่านจำเป็นต้องใช้เงินที่กำลังจะขอกู้จริงๆ นำไปเพื่อเสริมสภาพคล่อง นำไปเพื่อประกอบอาชีพ หรือประกอบธุรกิจ มิได้นำไปเพื่อใช้จ่ายอุปโภคหรือบริโภคส่วนตัว เพราะนั่นเท่ากับว่ายิ่งทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก เพราะหากว่ายิ่งเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น ก็อาจทำให้เกิดปัญหาการใช้เงินเกินตัว ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตหากว่าไม่มีเงินมาชำระภาระหนี้ที่สร้างขึ้น ไว้ในแต่ละเดือน ยิ่งยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ การรู้จักใช้ รู้จักประหยัด รู้จักอดออม รวมถึงการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ
________________________________________
หากใครมีบล๊อกที่ blogspot สามารถแอดกันมาได้ที่นี่ค่ะ
https://aorangel.blogspot.com/
***รับดูแลเพจแอดมิน ทางด้าน Digital Content Marketing
เขียนบทความพร้อมภาพประกอบ email: aorpaka@gmail.com***
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น