หลังจากห่างหายการเขียนบล็อกพักใหญ่ๆ วันนี้พอส่งงานเขียนบทความเสร็จแล้ว เลยขอนำเสนอเรื่องราวว่าด้วยเรื่องเงินๆทองๆ ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของประเทศไทยในปัจจุบันต่ำเตี้ยติดดินเสียนี่กระไร จึงทำให้ใครหลายๆ คนต่างต้องศึกษาหาข้อมูลเพื่อแสวงหาผลตอบแทนสูงสุดของเงินออมของรักของหวงของเรา ที่อุตส่าห์เก็บอดออมกันมา ไม่ว่าจะหย่อนกระปุก เก็บแบงค์ 20 เก็บแบงค์ 50 ตามวิธีฮิตที่คนชอบใช้เป็นเทคนิคในการออมก็สุดแล้วแต่จะว่ากันไป
มีงานที่เคยรับเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ เลยอยากนำเอาข้อมูลที่ได้ไปค้นคว้า นำมารีไรท์ใหม่เพื่อเขียนลงบล็อกในวันนี้ แบ่งปันข้อมูลว่าปัจจุบันนี้มีช่องทางไหนที่น่าสนใจ เพื่อแสวงหาผลตอบแทนสูงสุดของเงินออมกันค่ะ
บัญชีเงินฝากออมทรัพย์
แน่นอนว่าใครหลายคนต่างต้องนึกถึงบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เป็นอันดับแรกของรูปแบบการออมทรัพย์ ที่มีกันมาช้านาน นึกถึงสมัยเด็กๆ ที่นำเอาเงินหยอดกระปุกมาฝากเข้าบัญชีธนาคารออมสิน เป็นแคมเปญในการรณรงค์เรื่องการออมเงินตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งเป็นตัวอย่างที่คลาสสิกและดีมาก แต่ปัจจุบันนี้รูปแบบบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เอง ก็มีรูปแบบที่หลากหลายมาขึ้น เพื่อปรับตัวให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น มาดูกันว่ามีอะไรกันบ้าง1. เงินฝากประจำ
บัญชีนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรให้มากความ เพราะทุกคนคงเข้าใจกันดีว่า มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน จะ 3 เดือน หรือ 6 เดือน ก็ว่ากันไป อัตราดอกเบี้ยของประเภทนี้จะสูงกว่าออมทรัพย์ปกติ แต่จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15 % และหากถอนเงินก่อนกำหนด ก็จะเสียสิทธิในการรับดอกเบี้ยตามเงื่อนไขของธนาคาร2. เงินฝากออมทรัพย์
บัญชีนี้เชื่อว่าทุกคนต่างต้องมีเปิดใช้กันอยู่แล้ว เพราะมีความคล่องตัวสูง จะฝากเงิน หรือถอนเงิน เท่าไหร่ เมื่อไหร่ ยังไงก็ได้ โดยทำธุรกรรมผ่านหน้าเคาน์เตอร์ของธนาคาร ผ่านตู้เอทีเอ็ม หรือจะผ่าน e-banking ก็ยิ่งสะดวกใหญ่ อันนี้แล้วแต่พฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์ส่วนบุคคล3. เงินฝากปลอดภาษี
บัญชีนี้หลายคนคงเริ่มคุ้นชินกันมากขึ้นแล้ว เพราะเป็นโครงการพิเศษสำหรับการออมเงินได้เป็นอย่างดี เพราะจะเป็นการบีบบังคับตนเองให้ต้องกันเงินส่วนหนึ่งมาเข้าบัญชีนี้ทุกๆเดือนตลอดระยะเวลาของโครงการ ไม่ว่าจะเป็น 24 เดือน หรือ 36 เดือน จะได้รับดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในอัตราที่สูงกว่าแบบปกติ และยังได้รับสิทธิของการยกเว้นภาษีอีก้ดวย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่เกิน 600,000 บาทตลอดทั้งโครงการ และเปิดบัญชีได้ 1ชื่อ ต่อ 1 บัญชีเท่านั้น4. เงินฝากแบบขั้นบันได
บัญชีนี้ระยะหลังแต่ละธนาคารชอบนำมาเป็นจุดขายและนำมาโฆษณาให้เห็นกันบ่อยๆ ซึ่งผู้ที่จะฝากเงินประเภทนี้ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียด เพราะอัตราดอกเบี้ยที่เห็นจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่กำหนดเป็นช่วง ๆ เช่น 1 - 3 เดือน ===> 1% ต่อปี, 4 - 6 เดือน ===> 2.5% ต่อปี, 7 - 9 เดือน ===> 3% ต่อปี โดยดอกเบี้ยที่จะได้รับในแต่ละขั้นนั้น ทางธนาคารจะโอนจำนวนเงินของดอกเบี้ยที่ได้รับเข้าบัญชีออมทรัพย์ที่ได้ทำการผูกไว้กับบัญชีนี้ตั้งแต่ตอนที่เปิดบัญชีครั้งแรก ตามกำหนดระยะเวลาที่ครบกำหนด ดังนั้นดอกเบี้ยจะไม่ทบต้นเปรียบเทียบดอกเบี้ยเงินฝากของแต่ละธนาคาร
บัญชีเงินฝากไม่ประจำ ME by TMB
อันนี้ต้องเรียกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบใหม่ ที่ธนาคารทหารไทยเป็นต้นแบบนวัตกรรมของเทรนด์การเปลี่ยนแปลง ไม่จำเจ ไม่ยึดติด กับรูปแบบของธนาคารพาณิชย์แบบเดิมๆ อีกต่อไป จนทำให้บัญชีประเภทนี้ได้รับความนิยมค่อนข้างดีเลยทีเดียว เนื่องด้วยไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่ชอบใช้อินเตอร์เน็ตในชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว สามารถไปเปิดบัญชีครั้งแรกที่สาขาเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินแบบออนไลน์กันได้เลย แถมไม่มีเงื่อนไขของระยะเวลาฝากเงิน หรือข้อกำหนดขั้นต่ำของเงินฝาก แถมยังมีโอกาสได้รับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของธนาคาร) หากใครสนใจสามารถคลิกดูรายละเอียดของบัญชีนี้ได้ME by TMB
สลากออมทรัพย์
รูปแบบนี้จะเหมาะมากกับคนที่ชื่นชอบในเรื่องการเสี่ยงโชค เพราะนอกจากจะได้รับดอกเบี้ยในรูปแบบของเงินฝากแล้ว ยังจะมีโอกาสได้รับเงินหรือของรางวัลในแต่ละงวดตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของแต่ละธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่กำหนดระยะเวลาของสลากออมทรัพย์จะอยู่ประมาณ 3 - 5 ปี ข้อดีของสลากออมทรัพย์นี้มีหลายอย่าง เพราะนอกจากจะได้รับการยกเว้นภาษีแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ด้วย โดยสลากออมทรัพย์ยอดฮิตก็มีเพียงสองแห่งเท่านั้นที่มี ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือที่เรียกสั้นๆว่า ธกส.สลากออมสิน
สลากธกส.
พันธบัตรรัฐบาล
อันที่จริงแล้วผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทนี้ไม่ถือว่าเป็นรูปแบบการออมทรัพย์ แต่ถือว่าเป็นการลงทุนแต่หลายคนก็คงเริ่มคุ้นเคยกันบ้างแล้ว ดังจะเห็นได้จากการโฆษณาของธนาคารต่างๆ ที่เป็นช่องทางในการซื้อพันธบัตรของรัฐบาล เพราะพันธบัตรประเภทนี้มีความมั่งคงสูง และมีความเสี่ยงต่ำ ในขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ โดยจะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดเมื่อครบระยะเวลา ซึ่งโดยส่วนใหญ่ประมาณ 5 ปีขึ้นไปกองทุนรวมตลาดเงิน
อันนี้อาจไม่คุ้นสำหรับคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการซื้อกองทุนมาก่อน แต่อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นแล้วว่า ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ไม่เร้าใจเราอีกต่อไป ทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ชาญฉลาด ต่างต้องแสวงหาสิ่งที่เร้าใจใหม่กว่า ซึ่งกองทุนรวมเป็นคำตอบที่ดี ตัวเลือกที่ใช่ สำหรับคนที่มีเงินออม แล้วไม่ได้ใช้ทำอะไรภายในหนึ่งปี สามารถนำเงินก้อนนั้นแบ่งมาลงทุนกับกองทุนรวมตลาดเงิน โดยการซื้อขายของกองทุนประเภทนี้มีความคล่องตัวสูง ไม่ต่างจากบัญชีออมทรัพย์ สามารถเปิดบัญชี และทำการซื้อขายได้ทุกวันทำการของธนาคาร โดยจะได้รับเงินหลังจากวันขายประมาณ 1 - 2 วัน และไม่เสียภาษีเหมือนเงินฝากประจำด้วยอัตราผลตอบแทนย้อนหลัง1ปีของกองทุนรวมตลาดเงิน
กองทุนรวมตราสารหนี้
สำหรับกองนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการซื้อกองทุนรวมตลาดเงินมาแล้ว เริ่มเข้าใจคอนเซปท์ วัตถุประสงค์ และรู้จักวิธีการบริหารเงิน ยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกัน เพราะความเสี่ยงของตลาดตราสารหนี้อาจจะสูงกว่าเมื่อเทียบกับตลาดเงิน แต่อัตราผลตอบแทนของตลาดตราสารหนี้ก็จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าตลาดเงินเช่นกัน โดยได้รับการยกเว้นภาษีเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นระยะเวลาในการลงทุนของตลาดตราสารหนี้เหมาะที่จะใช้เวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไปอัตราผลตอบแทนย้อนหลัง1ปีของกองทุนรวมตราสารหนี้
จากข้อมูลที่นำเสนอไปทั้งหมด หวังว่าจะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางให้กันบ้างไม่มากก็น้อย ส่วนใครจะชื่นชอบรูปแบบใดมากกว่ากัน คงต้องขึ้นอยู่กับความต้องการใช้เงิน เงื่อนไขในการออม และไลฟ์สไตล์ส่วนตัว ว่ารูปแบบใดจะตอบโจทย์ให้กับท่านได้มากที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น